ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งหมด เพียงแค่ 16 ปีต่อมา ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงเกินร้อยละ 20 ทำให้ในปัจจุบันเราทุกคนต่างอยู่ในสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เกษียณอายุ เพราะมีประโยชน์ต่อการวางแผนรายได้เมื่อแก่ตัวลง ซึ่งหากไม่เพียงพอ อาจต้องพิจารณาทำประกันเกษียณ หรือที่เรียกว่าประกันบำนาญควบคู่ไปด้วย
สวัสดิการผู้สูงอายุ คุ้มครองอะไรบ้าง
สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุคุ้มครองหลายด้านด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น 16 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ / บำเหน็จบำนาญตามสิทธิประกันสังคม / บำเหน็จบำนาญตามสิทธิข้าราชการ
- ลดราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนบางชนิด
- ลดหย่อนภาษีให้แก่บุตรได้
- กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพแบบปลอดดอกเบี้ย จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จากกองทุนผู้สูงอายุ
- ขอปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมและปลอดภัย กับกรมกิจการผู้สูงอายุ
- บริการให้คำปรึกษา แนะนำ และรับสมัครงานสำหรับผู้สูงอายุ โดยกรมการจัดหางาน
- สิทธิเข้าถึง สิ่งอำนวยความสะดวก ในพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง
- สิทธิการศึกษา เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- สิทธิการแพทย์
- สิทธิการช่วยเหลือทางกฎหมาย
- ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ
- เปิดให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น สถานกีฬาลดค่าสมัครสมาชิก 50 เปอร์เซ็นต์
- การสงเคราะห์ช่วยเหลือ เมื่อถูกทารุณกรรม ถูกทอดทิ้ง ถูกหาประโยชน์
- การจัดบริการสถานที่ท่องเที่ยว
- สิทธิในการเข้ามีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคม
- เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต สำหรับผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัวที่ยากจน จำนวนรายละ 2,000 บาท จากกรมพัฒนาชุมชน
ในส่วนของสวัสดิการผู้สูงอายุประเภทเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญตามสิทธิประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญตามสิทธิข้าราชการ มีรายละเอียดดังนี้
1. เบี้ยยังชีพ
ผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ คือ ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย ซึ่งรวมไปผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินชราภาพประกันสังคมด้วย ส่วนผู้สูงอายุที่มีสิทธิข้าราชการ จะไม่สามารถใช้สิทธิรับเบี้ยยังชีพได้ เพราะได้รับเงินบำเหน็จ-บำนาญอยู่แล้ว
สวัสดิการผู้สูงอายุแบบเบี้ยยังชีพนี้ จะจ่ายเบี้ยให้ผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดตามอายุที่มากขึ้น
- อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท/เดือน
- อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท/เดือน
2. บำเหน็จบำนาญตามสิทธิประกันสังคม
สวัสดิการผู้สูงอายุประเภทนี้ สำหรับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 สามารถขอรับได้เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป และต้องสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้ว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
2.1 บำนาญชราภาพ
ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องติดต่อกัน ให้มีสิทธิได้รับเงินบํานาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ คิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้าง (ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และหากจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญให้อีก ร้อยละ 1.5 ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือน
เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (ตาย/สิ้นสภาพความเป็นลูกจ้าง) หรือความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 41 (ตาย/ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกครั้ง/ลาออกจากความเป็นผู้ประกันตนโดยการแสดงความจํานงต่อสํานักงาน/ไม่ส่งสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน/ภายในระยะเวลาสิบสองเดือนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบเก้าเดือน) ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
2.2 บำเหน็จชราภาพ
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ 39 ที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน เมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ดังที่กล่าวไปข้างต้น ให้มีสิทธิได้รับเงินบําเหน็จชราภาพ กรณีจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน รับเท่ากับจำนวเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือน ขึ้นไป รับเท่ากับจำนวเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนและที่นายจ้างสมทบพร้อมผลตอบแทน
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่เลือกจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน เงินที่จ่ายจะสะสมเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ เดือนละ 50 บาท หรือกรณีเลือกจ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน เงินที่จ่ายจะสะสมเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ เดือนละ 150 บาท
3. บำเหน็จบำนาญตามสิทธิข้าราชการ
โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงบำเหน็จบำนาญแบบปกติเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
3.1 ข้าราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494
สำหรับข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ ด้วยเหตุ 4 เหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
- เหตุทดแทน ให้แก่ข้าราชการที่ออกจากราชการ เพราะเลิกหรือยุบตำแหน่ง
- เหตุทุพพลภาพ
- เหตสูงอายุ ให้แก่ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ หรือข้าราชการที่มีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ ที่ประสงค์จะลาออก และได้รับอนุญาตแล้ว
- เหตุรับราชการนาน ให้แก่ข้าราชการซึ่งมีเวลาราชการสําหรับคํานวณบําเหน็จบํานาญครบสามสิบปีบริบูรณ์ หรือ ข้าราชการที่มีเวลาราชการสําหรับคํานวณบําเหน็จบํานาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ประสงค์จะลาออก และได้รับอนุญาตแล้ว
3.2 ข้าราชการตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539
สำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามเงื่อนไข ดังนี้
- มาตรา 47 สมาชิกซึ่งมีเวลาราชการตั้งแต่ 10 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25 ปีบริบูรณ์ ให้มีสิทธิได้รับบําเหน็จ โดยให้คํานวณจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ
- มาตรา 48 สมาชิกซึ่งมีเวลาราชการตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับบํานาญ โดยให้คํานวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เว้นแต่จะเลือกรับบําเหน็จแทน
- มาตรา 49 นอกจากกรณีที่กําหนดไวในมาตรา 47 และมาตรา 48 แล้ว สมาชิกมีสิทธิได้รับบําเหน็จบํานาญด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ เหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพ และเหตุสูงอายุ คล้ายกับกรณี ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดของแต่ละเหตุ ได้ในหัวข้อ 3.1
ประกันหลังเกษียณ หรือประกันบำนาญ คุ้มครองอะไรบ้าง
- คุ้มครองด้านการเงิน โดยมีเงินบำนาญ ซึ่งอาจแตกต่างกันตามประกันบำนาญแต่ละแบบ
- คุ้มครองกรณีเสียชีวิต โดยมีการจ่ายผลประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภัย ต่างกันไปตามตามประกันบำนาญแต่ละแบบ และช่วงเวลาที่เสียชีวิต
ตัวอย่างผลประโยชน์ความคุ้มครองของของประกันเกษียณ 3 แบบจาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร กรณีเลือกรับเงินบำนาญรายปี
แบบประกันเกษียณ (ประกันบำนาญ) |
ตัวอย่างผลประโยชน์ความคุ้มครอง | ||
เงินบำนาญรายปี | ช่วงก่อนรับเงินบำนาญ | ช่วงรับรองเงินบำนาญ กรณีเสียชีวิต ก่อนรับ เงินบำนาญครบ 15 ปี |
|
เซฟเกษียณ มีบำนาญ 90/55 (บำนาญแบบลดหย่อนภาษีได้) |
15% อายุ 55-85 ปี 18% อายุ 86-90 ปี (% ของจำนวนเงิน เอาประกันภัย) |
ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 105% ของเบี้ยประกันภัยที่ชำระแล้ว หรือค่าเวนคืนกรมธรรม์ (แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า) |
มูลค่าปัจจุบัน ของจำนวนเงินบำนาญ ที่ยังไม่ได้จ่ายจนครบ 15 ปี |
รีไทร์ เรดดี้ 85/55 (บำนาญแบบลดหย่อนภาษีได้) |
15% อายุ 55-85 ปี (% ของจำนวนเงิน เอาประกันภัย) |
||
ไทยสมุทรบำนาญ 85/55 (บำนาญแบบลดหย่อนภาษีได้) |
10% อายุ 55-85 ปี (% ของจำนวนเงิน เอาประกันภัย) |
ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 100% อายุ 25-ก่อนครบ 40 ปี 120% อายุ 40-ก่อนครบ 43 ปี 140% อายุ 43-ก่อนครบ 46 ปี 160% อายุ 46-ก่อนครบ 49 ปี 180% อายุ 49-ก่อนครบ 52 ปี 200% อายุ 52-ก่อนครบ 55 ปี % ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือค่าเวนคืนกรมธรรม์ หรือเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาแล้ว (แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า) |
มีสวัสดิการผู้สูงอายุแล้ว ควรทำประกันเกษียณ (ประกันบำนาญ) หรือไม่
จากรายละเอียดด้านสวัสดิการผู้สูงอายุทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพ และผู้ที่ได้รับบำเหน็จบำนาญตามสิทธิประกันสังคมนั้น จะมีรายรับจากสวัสดิการทั้ง 2 ประเภทในจำนวนที่น้อยมากคือไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้น ประกันเกษียณจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยให้ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีรายได้มากขึ้น โดยหากต้องการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็สามารถเลือกทำประกันแบบจ่ายบำนาญรายเดือนได้ แต่ถ้าต้องการเป็นเงินก้อน ก็สามารถเลือกทำประกันแบบจ่ายบำนาญรายปีก็ได้เช่นกัน
ส่วนผู้ที่ได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้น อาจมีรายรับเพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว จึงอาจเลือกไม่ทำประกันเกษียณก็ได้ แต่หากต้องการเพิ่มความมั่นคงให้ชีวิต ก็สามารถเลือกทำประกันเกษียณแบบจ่ายบำนาญรายปีได้เช่นกัน
สนใจทำประกันเกษียณ (ประกันบำนาญ)
ข้อควรทราบ :
- การรับประกันภัยเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด
- เบี้ยประกันชีวิตสามารถนำไปอ้างอิงลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
- ผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะนำเบี้ยประกันชีวิตไปอ้างอิงลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องแจ้งความประสงค์และยินยอมให้บริษัทฯ นำส่งข้อมูลเบี้ยประกันชีวิตให้กรมสรรพากร
- การนำส่งเบี้ยประกันภัยเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย การที่ตัวแทนประกันชีวิตมาเก็บเบี้ยประกันภัยเป็นการให้บริการเท่านั้น
- ความคุ้มครองและการจ่ายผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
- ข้อมูลในเอกสารนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผู้ขอเอาประกันภัย/ผู้เอาประกันภัยควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครอง ผลประโยชน์ และข้อยกเว้น ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง เมื่อได้รับกรมธรรม์แล้วโปรดศึกษาเพิ่มเติม
อ้างอิง :
กรมสุขภาพจิต
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
มาตรา 73(2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
มาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2561
Facebook สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494
พระราชบัญญัติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539