เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา คนไทยจำนวนมากเผชิญกับเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” เป็นครั้งแรกของชีวิต ทำให้ในช่วงวินาทีแรก ๆ ที่เกิดเหตุ หลาย ๆ คนคิดว่าตนเองมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ไม่ก็คิดว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากันกำเริบขึ้น จนเมื่อแผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว แทนที่อาการเหล่านั้นจะหายไปด้วย กลับยังคงอยู่ จนทำคิดไปว่ามีแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา หลังจากแผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) ขนาด 7.7 แม็กนิจูด ศูนย์กลางใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาผ่านพ้นไปแล้ว แผ่นดินไหวตามที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงเท่า และส่วนใหญ่คนไทยจะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนมากนัก เนื่องจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวตามอยู่ค่อนข้างไกล
หลายคนจึงเกิดคำถามว่า “แล้วแบบนี้ เราคิดไปเองอย่างงั้นเหรอ ?” บทความนี้จะมาไขข้อสงสัย และช่วยให้ผู้ประสบภัยทุกคนเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหว ที่นอกจากจะไม่ใช่การคิดไปเองแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจได้ด้วย
อาการสมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk)
อาการสมองเมาแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome (PEDS) เป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของร่างกายต่อแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรง ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบรู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ แม้ว่าแผ่นดินจะหยุดสั่นแล้ว ลักษณะอาการคล้ายกับอาการโคลงเคลงหลังลงจากเรือ โดยในภาษาญี่ปุ่นเรียกอาการนี้ว่าว่า “จิชิน-โยอิ” (地震酔い)
สาเหตุของอาการสมองเมาแผ่นดินไหว
อาการนี้เกิดจาก ระบบการทรงตัว (Vestibular System) ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นในที่ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลถูกรบกวนจากการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของแผ่นดินไหว ส่งผลทำให้ระบบดังกล่าวเสียสมดุล และสมองของมนุษย์ยังไม่สามารถปรับตัวให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้
อาการสมองเมาแผ่นดินไหวที่พบได้บ่อย
- รู้สึกเหมือนพื้นยังคงสั่นหรือโคลงเคลง
- เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้
- รู้สึกไม่มั่นคงขณะเดิน
ระยะเวลาของอาการสมองเมาแผ่นดินไหว
โดยทั่วไป อาการจะค่อย ๆ หายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันเมื่อร่างกายสามารถปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม ในบางราย อาการอาจคงอยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยเฉพาะในผู้ที่เมารถ เมาเรือง่าย หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน จะได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่น
วิธีบรรเทาอาการสมองเมาแผ่นดินไหว
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ฝืนร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการมองหน้าจอ สิ่งที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ หรือสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการเวียนศีรษะ
- หากมีอาการขณะเดินหรือเคลื่อนไหว ให้นั่งพักทันที หรือนอนราบลงจะช่วยทำให้อาการดีขึ้น
- มองไปที่จุดไกล ๆ เช่น เส้นขอบฟ้า
- สามารถกินยาแก้เมารถ เพื่อรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ
- หากอาการรุนแรง หรือไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม
อาการแผ่นดินไหวทิพย์ (Earthquake Illusion)
อาการแผ่นดินไหวทิพย์ หรือ "สมองหลอนแผ่นดินไหว" (Earthquake Illusion) เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่ทำให้รู้สึกเหมือนมีแรงสั่นสะเทือน แม้ว่าจะไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นจริง อาการนี้มักเกิดขึ้นหลังจากประสบเหตุแผ่นดินไหวจริง และเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของร่างกายและจิตใจต่อความเครียดและความทรงจำจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
สาเหตุของอาการแผ่นดินไหวทิพย์
- การรับรู้ทางประสาทสัมผัสขัดแย้งกัน: โดยสมองพยายามประมวลผลข้อมูลจากประสาทสัมผัสหลายส่วน เช่น ตารับรู้ว่าพื้นดินนิ่ง แต่ระบบการทรงตัว (Vestibular System) ในหูชั้นในกลับส่งสัญญาณว่ามีการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดความสับสน
- ความตื่นตัวสูงขึ้น (Hyperarousal): หลังแผ่นดินไหว ร่างกายอาจยังคงอยู่ในสภาวะตื่นตัวสูง ระดับฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอลและอะดรีนาลีนอาจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายไวต่อความรู้สึกมากขึ้น
- ผลกระทบทางจิตใจ: แผ่นดินไหวอาจกระตุ้นความเครียดเฉียบพลัน หรือในบางรายอาจพัฒนาเป็นภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder - PTSD) โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลอยู่ก่อนแล้ว หรือมีประวัติไมเกรน
อาการแผ่นดินไหวทิพย์ที่พบได้บ่อย
- รู้สึกเหมือนพื้นกำลังสั่นสะเทือน ทั้งที่ไม่มีแผ่นดินไหวจริง
- เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือรู้สึกไม่มั่นคง
- มีความตื่นตัวสูง กลัวหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหว
- นอนไม่หลับ หรือมีอาการย้อนนึกถึงเหตุการณ์ (flashback)
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำให้นึกถึงแผ่นดินไหว เช่น อาคารสูง หรือรถไฟฟ้า
ระยะเวลาของอาการแผ่นดินไหวทิพย์
- สำหรับบางคน อาการอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหลังแผ่นดินไหว
- ในบางกรณี อาการอาจคงอยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังหรือมีภาวะวิตกกังวลอยู่ก่อนแล้ว
วิธีบรรเทาอาการแผ่นดินไหวทิพย์
- ทำความเข้าใจอาการ: การตระหนักว่าอาการนี้เป็นปฏิกิริยาปกติของร่างกายและจิตใจสามารถช่วยลดความวิตกกังวลได้
- ฝึกการหายใจลึก ๆ และผ่อนคลาย: การใช้เทคนิคการหายใจ เช่น หายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกช้า ๆ สามารถช่วยลดความตื่นตัวของระบบประสาท หรือเลือกวิธีผ่อนคลายจิตใจที่เหมาะสมกับตัวเองได้กับบริการ OCEAN LIFE Mental Health คลิก
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ที่อาจกระตุ้นอาการเวียนศีรษะ รวมถึงการดูภาพข่าวหรือคลิปวิดีโอที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวซ้ำ ๆ
- ค่อย ๆ กลับไปใช้ชีวิตปกติ: หากมีอาการกลัวสถานที่บางแห่ง ควรค่อย ๆ เผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยให้สมองปรับตัว
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ: หากอาการรบกวนชีวิตประจำวัน ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยเฉพาะหากมีอาการ PTSD ร่วมด้วย
ไม่ว่าจะมีอาการสมองเมาแผ่นดินไหว หรือแผ่นดินไหวทิพย์ก็ตาม ไม่ควรโทษว่าตัวเองอ่อนแอ เพราะร่างกายและจิตใจของแต่ละคนแตกต่างกัน จึงต้องให้เวลาเป็นตัวช่วยในการปรับร่างกายและจิตใจของเรา ให้กลับมาเป็นปกติ และผ่านพ้นช่วงเวลาหลังแผ่นดินไหวไปได้ในที่สุด