โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
Period
1 Jan.-31 Dec. 2024
Contact
โทร 1503
Detail
สนับสนุน โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เหรียญโอชิ 100 เหรียญ มีค่าเท่ากับ 10 บาท
เนื่องด้วยอาคารเดิมของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่เปิดให้บริการทางการแพทย์และเป็นที่บ่มเพาะบุคลากรการแพทย์ในฐานะโรงเรียนแพทย์ได้ใช้งานมามากกว่า 50 ปีนั้นมีสภาพทรุดโทรมและแออัด โครงสร้างเดิมของอาคารและระบบสาธารณูปโภคเสื่อมสภาพและมีข้อจำกัดด้านการปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริการทางการแพทย์ต่อผู้ป่วยนอกที่มาใช้บริการทุกอาคาร ซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนประมาณกว่า 2.4 ล้านคน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ริเริ่ม “โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี” โดยวางเป้าหมายเน้นการเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้มีมาตรฐานทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคในปัจจุบัน และในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาโรคที่ซับซ้อนเป็นต้นแบบของการรักษา อาคารแห่งใหม่นี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพของอาคารเดิม แต่มีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้งให้ความสำคัญกับแนวคิดการทำงานแบบบูรณาการสหสาขาวิชาชีพของทุกภาควิชา และการคิดถึงใจผู้ป่วยว่าต้องการอะไร ตามแนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกันเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพให้เข้าสู่ระดับสากล แข่งขันได้และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ด้วยแนวคิดพัฒนาการบริการและนวัตกรรมทางการแพทย์สู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดแนวทางการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กร “ย่านนวัตกรรมโยธี (Yothi Medical Innovation District) หรือ YMID” เชื่อมโยงสถาบันทางการแพทย์เป็นเครือข่ายเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ สูง 25 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม ขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า* การออกแบบและก่อสร้างให้ความสำคัญอย่างมากกับการคิดถึงใจผู้ป่วยว่าต้องการอะไร ตามแนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด มีหัวใจหลักในการให้บริการ 3 ส่วน ได้แก่
1. การบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (Public Service)
สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ 2.5 ล้านคนต่อปี ผู้ป่วยใน 55,000 รายต่อปี ประกอบด้วย แผนกอายุรศาสตร์ แผนกศัลยศาสตร์ แผนกกระดูกและข้อ แผนกกุมารเวชศาสตร์ แผนกหูคอจมูก แผนกสูตินารีเวช แผนกรังสีวิทยา ศูนย์มะเร็งวิทยาครบวงจร หน่วยเวชระเบียน แผนกพยาธิวิทยา แผนกผ่าตัด หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยในสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ และหอผู้ป่วยวิกฤต รวมประมาณ 1,000 เตียง (เตียงในห้องรวม ห้องเดี่ยว ห้องแยกโรคสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ห้องความดันลบ และห้องผู้ป่วยวิกฤต) ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายตามสิทธิ์สามัญเหมือนอาคารเดิม แต่ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ศักยภาพและคุณภาพที่เพิ่มขึ้นด้านการบริการทางการแพทย์ อาทิ
- ห้องพักผู้ป่วยใน จำนวน 826 เตียง แบ่งเป็น ห้องเดี่ยวสามัญ 185 เตียง ห้องรวม 621 เตียง โดยมีจำนวนเตียงสูงสุดเพียง 4 เตียง ไม่มีห้องรวมสิบหรือยี่สิบเตียง ทำให้ผู้ป่วย มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่แออัด มีหน้าต่างขนาดใหญ่ทำให้ได้รับแสงจากภายนอกได้อย่างเพียงพอ ทำให้ไม่หดหู่ และสามารถควบคุมหรือลดการแพร่เชื้อได้ดีขึ้น และมีห้องพักเดี่ยวพิเศษ 20 เตียง
- ห้อง ICU เดิมมีประมาณ 100 เตียง ได้ปรับเป็น ICU ห้องเดี่ยวทั้งหมดจำนวนประมาณ 240 เตียง สืบเนื่องจากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่ผู้ป่วยมีชีวิตยาวนานขึ้น โรคมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถมองเห็นด้านนอก ตามคอนเซ็ปต์ Healing Environment ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจช่วยกระตุ้นให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น
- ห้องผ่าตัด (OR) เดิมมี 44 ห้อง ได้เพิ่มเป็นประมาณ 50 ห้อง ด้วยพื้นที่มาตรฐานเน้นการบูรณาการผ่าตัดรองรับโรคซับซ้อน ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่รามาธิบดีมีความเชี่ยวชาญ เน้นการผ่าตัดที่ทุกภาควิชาใช้เครื่องมือร่วมกัน (Shared Facility) เช่น
OR Hybrid มี 2 ห้อง Vascular (หลอดเลือด) และ Neuro (เส้นประสาท)
Robotic Surgery (การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด) ดูแลการผ่าตัดศัลยกรรม สูตินรีเวช และหูคอจมูก (ENT)
Day Procedure Center ศูนย์การผ่าตัดแบบไม่นอนโรงพยาบาล รองรับแนวโน้มการบริการทางด้านสุขภาพในอนาคตที่เน้น Home Therapy เพิ่มมากขึ้น เช่น แผนกตา กระดูก สูติ หูคอจมูก
- ห้องสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath Lab) มีห้องผ่าตัดเฉพาะทาง และห้อง CCU สำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ
- หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) มี 4 ชั้น จำนวนห้องตรวจรวมประมาณ 325 ห้อง ด้วยคอนเซ็ปต์ที่นึกถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงพัฒนาจุดบริการ One Day Service สำหรับผู้ป่วยก่อนผ่าตัด จัดโซนพื้นที่ให้บริการรูปแบบใหม่
Imagine Center รวมเครื่อง X-ray, , Ultrasound, CT scan, MRI ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เพื่อลดระยะเวลารอคอยการตรวจ
Patient Operation Center รวมศูนย์การให้บริการผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดที่ต้องพบกับแพทย์หลายด้าน เช่น วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ แพทย์เฉพาะทาง เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดการเคลื่อนที่ของผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลา
Intervention Center ศูนย์การให้บริการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การสวนขยายหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดส่วนอื่นๆ การเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจ เป็นต้น
อีกหนึ่งจุดเด่นคือ มีจุดรับส่งผู้ป่วยที่ยาวมากถึง 140 เมตร ตอบโจทย์การคิดถึงใจผู้ป่วยที่อยากถึงมือหมอโดยเร็วที่สุด มีทางเชื่อม Skywalk เข้าอาคารชั้นสอง เชื่อมต่อกับศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์และสะพานลอย ซึ่งในอนาคตมีแผนเชื่อมกับรถไฟฟ้าที่จะมาถึงด้วย
2. การเรียนการสอนบุคลากรการแพทย์ (Education)
ทุกตารางนิ้วของโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนขนาดใหญ่ที่บ่มเพาะผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผลิตนักศึกษา จำนวน 950 คนต่อปี ให้พร้อมด้วยความรู้ และความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยต่อไปในอนาคต โดยมีการจัดพื้นที่ให้มีการศึกษา พูดคุยระหว่างผู้รียนกับผู้สอนอย่างเหมาะสมกลมกลืนกับการปฏิบัติงาน และยังเตรียมพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องตรากตรำทำงานจนเกือบต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในอาคารแห่งนี้ เช่น จัดพื้นที่ห้องทำงานแบบ Co-Working Space ห้องประชุม ห้องรับประทานอาหารและห้องพักสำหรับผู้อยู่เวรอย่างเหมาะสมเพียงพอ
3. การวิจัย (Research)
โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยทุกระดับชั้น ควบคู่ไปกับการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความรู้และเชี่ยวชาญระดับสูงให้มีศักยภาพสูงเพื่อดูแลสุขภาพของประชากรไทย ตลอดจนการผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) เพื่อนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์ ชีวการแพทย์ และการดูแลสุขภาพที่สามารถนำไปต่อยอดและเป็นประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว จึงได้จัดสรรพื้นที่แห่งการวิจัย ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER), Co- Working Space, Clinical Research Center เป็นต้น
ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2571 ซึ่งทางภาครัฐให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังขาดงบในส่วนค่าก่อสร้างอาคารอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท และยังมีอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมูลค่าสูงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการให้การบริการในการรองรับผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมนั้นจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ซึ่งขาดงบประมาณอีกกว่า 6,000 ล้านบาท ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมผ่านการให้บริการทางการแพทย์ในคลินิกต่าง ๆ และการระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ
Condition
คุณสมบัติผู้ร่วมกิจกรรม
- สำหรับสมาชิก OCEAN CLUB APP เท่านั้น
- ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้หากยังไม่มี OCEAN CLUB APP
สามารถดาวน์โหลด OCEAN CLUB APP ได้ที่ คลิก https://www.ocean.co.th/download-ocean-club-app
วิธีการร่วมกิจกรรม
- เข้าใช้งาน OCEAN CLUB APP เท่านั้น
- กดที่เมนู “เพิ่ม OCHI COIN”
- เข้าเมนูย่อย “กิจกรรม”
- เลือกหน่วยงานที่ต้องการบริจาค
- กด “บริจาค” ใช้ OCHI COIN 100 เหรียญ
เงื่อนไขทั่วไป
- เมื่อกดบริจาคผ่านทาง OCEAN CLUB APP แล้ว OCHI COIN จะถูกตัดทันที ไม่สามารถขอคืน OCHI COIN ได้ทุกกรณี
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โทร. 1503
(จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 - 17.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)