4 ปัญหาสุขภาพจิต กระทบชีวิตวัยทำงาน

ปัญหาสุขภาพจิต


ในยุคปัจจุบันที่ความเร่งรีบและการแข่งขันในชีวิตการทำงานเพิ่มสูงขึ้น หลายคนต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดเป็นความเหนื่อยล้าทางใจที่สะสมจนส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยรวม 

บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักและเข้าใจปัญหาสุขภาพจิต ที่ดูเผิน ๆ อาจจะเหมือนความเครียดทั่ว ๆ ไป แต่หากปล่อยไว้นาน ก็อาจจะทำให้อาการแย่ลงจนเป็นโรคได้ พร้อมแนะนำแบบทดสอบสุขภาพจิต เพื่อประเมินตนเองเบื้องต้น

 

ภาวะปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder)

เป็นปัญหาสุขภาพจิต ที่มักเกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับสภาวะกดดันหรือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาคุกคาม ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของร่างกายและจิตใจ จนไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต สำหรับวัยทำงานนั้น ความกดดันที่ต้องพบเจอคงหนีไม่พ้นภาระหน้าที่ต่าง ๆ เช่น งานที่ได้รับมอบหมายใหม่ การปรับตำแหน่งที่สูงขึ้น การย้ายสถานที่ทำงาน การทำงานกับเพื่อนร่วมงานใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาวะปรับตัวผิดปกติหายได้เร็วหากไปพบแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยใช้เวลาแค่เพียง 3-6 เดือนเท่านั้น

อาการของภาวะปรับตัวผิดปกติ

ด้านร่างกาย : ปวดศีรษะ ปวดท้อง ใจสั่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
ด้านจิตใจ : หมกมุ่น วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ตื่นเต้น กระสับกระส่าย หรือในทางตรงกันข้าม อาจรู้สึกใจลอย และขาดสมาธิได้
ด้านพฤติกรรม : เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่ดูแลตัวเอง ขัดแย้งกับคนรอบตัวอยู่เสมอ จนปลีกตัวออกจากสังคม อาจพึ่งพาสุราและสารเสพติดอื่น ๆ

 

ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem)

ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตนี้ มักไม่ภูมิใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่น ความศรัทธา ไม่เห็นคุณค่าหรือเคารพตนเอง ซึ่งเกิดจากการประเมินค่าของตนเองจากปัจจัยภายนอก เช่น ความคิดของผู้อื่น ค่านิยมในสังคม เป็นต้น โดยอาจแสดงพฤติกรรมเอาอกเอาใจผู้อื่นเกินไป จนไม่เป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองกลายเป็นคนสำคัญ หรือวางอำนาจเหนือผู้อื่น เพื่อปกปิดความรู้สึกต่ำต้อยในใจตนเอง


พฤติกรรมของภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ

  • อ่อนไหวง่ายต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของเพื่อนร่วมงาน แม้ได้รับการกระทบกระทั่งเพียงเล็กน้อย
  • กลัวการเข้าสังคม และการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงาน
  • คอยตรวจสอบอยู่ตลอดว่าตนเองได้รับความสนใจหรือไม่ เช่น หมกหมุ่นกับยอดไลก์บนโซเชียลมีเดีย 
  • มักแก้ตัว หรือหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง ไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทำงาน
  • ไม่กล้าปฏิเสธ จนต้องแบกภาระงานของผู้อื่นอยู่เสมอ

ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าไม่ปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะในการทำงาน ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้

 

ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome)

มักเกิดจากความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ที่สะสมต่อเนื่องจากความเครียดในการทำงาน จนมีทัศนคติทางลบกับที่ทำงาน เนื้องาน และเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงในที่สุด ซึ่งหากภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดขึ้นในระยะยาว อาจนำไปสู่โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) เครียด ซึมเศร้าได้

อาการของภาวะหมดไฟในการทำงาน

ด้านจิตใจ : เหนื่อยล้า อ่อนแรง ไม่สดชื่น สิ้นหวัง หงุดหงิดง่าย เพิกเฉย ไม่มีเป้าหมายในการทำงาน และอยากลาออกจากงาน
ด้านพฤติกรรม : มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินทั้งกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกน้อง รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จนเกิดการปลีกตัวออกไปอยู่คนเดียวบ่อยครั้ง (Depersonalization) หลาย ๆ คนเริ่มมาทำงานสายกว่าปกติ

 

โรคกลัวความผิดพลาด (Atelophobia)

เป็นโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ประเภทหนึ่ง ที่ส่งผลต่อการทำงานชัดเจน เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้จะกลัวความไม่สมบูรณ์ ความบกพร่อง ความผิดพลาด ในระดับที่สูงกว่าคนปกติ และสูงกว่าผู้ที่มีภาวะความพึงพอใจในตัวเองต่ำ เพราะจะเริ่มมีอาการทางด้านร่างกาย

ผู้ที่เป็นโรคกลัวความผิดพลาด จะกลัวว่าตนเองนั้นไม่มีความสามารถเพียงพอในการทำงานต่าง ๆ จนบ่ายเบี่ยงที่จะลงมือทำงานใหม่ ๆ ไปจนถึงงานทั่วไปที่เคยทำได้ จนอาจกลายเป็นคนที่หมดประสิทธิภาพในการทำงานในที่สุด
 

อาการของภาวะกลัวความผิดพลาด

ด้านร่างกาย : ระดับการเต้นของหัวใจสูงขึ้น หายใจตื้นและเร็ว ปากแห้ง เหงื่อออก
ด้านจิตใจ : อกสั่นขวัญหาย เครียด โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า หมดไฟในการทำงาน
ด้านพฤติกรรม :

  • อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
  • ไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับงานและด้านอื่น ๆ ได้
  • ต้องการการย้ำเตือนว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเหมาะสมแล้ว
  • หลีกหนีจากสังคมการทำงาน

ปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนในวัยทำงานที่ต้องแบกภาระต่าง ๆ มากมาย หมั่นดูแลและสำรวจจิตใจตนเอง เมื่อรู้สึกว่าความเครียดหรือปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน อย่ากลัวหรืออายที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา และถ้าใครรู้สึกเครียด ไม่สบายใจแต่ยังไม่ถึงขั้นกระทบกับการใช้ชีวิตมากนัก อยากหาที่ระบาย หรือลองตรวจเช็กสุขภาพจิตของตนเอง สามารถใช้บริการตรวจเช็กสุขภาพจิต Mental Health Technology จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิตได้ฟรี ที่ https://www.ocean.co.th/service/mental-health นอกจากจะมีแบบทดสอบสุขภาพจิตให้ได้ลองประเมินความเครียด ความเศร้า ความกังวล ยังมีวิธีผ่อนคลายดูแลจิตใจที่สามารถทำตามได้ง่าย ๆ และมี AI แชทบอทที่พร้อมเป็นเพื่อนรับฟังปัญหา พูดคุยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายจิตใจอีกด้วย

อ้างอิง : 

https://www.manarom.com
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/
https://www.chula.ac.th/
https://www.medicalnewstoday.com/

สิทธิพิเศษที่เกี่ยวข้อง

OCEAN CLUB APP ใช้ชีวิตดี๊ดี กับ OCHI COIN

OCEAN CLUB APP #HEALTHIVERSE

ฟีเจอร์ล่าสุด ให้คุณ TOP FORM ด้านสุขภาพ

QR Code Application
ดาวน์โหลดเลย
OCEAN CLUB APP

บอกข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับตัวคุณ
เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม

วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี
ฉันต้องการค้นหาเกี่ยวกับ